ทำความเข้าใจแผนการเทรด
แผนการเทรดคือการรวมกฎการเทรดต่าง ๆ เข้าด้วยกันและสร้างเป็นขั้นตอนที่คุณจะปฏิบัติตาม ดังนั้นเป้าหมายหลักของแผนนี้คือช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายส่วนตัวในการเทรด สมมติว่าเป้าหมายอันดับ 1 ของคุณคือการป้องกันการขาดทุนรุนแรง ดังนั้นแผนการเทรดของคุณก็ควรมีส่วนที่กำหนดให้หยุดเทรดและพักหลังจากเกิดการขาดทุนอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง คุณอาจเปลี่ยนกลยุทธ์การเทรดของคุณในกรณีที่มีการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเทรดเช่นกัน
แผนการเทรดอาจมีความยาวและมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย อย่างไรก็ตาม แผนการเทรดแบบง่าย ๆ ก็ไม่ได้แย่เสมอไป หากคุณลงทุนระยะยาว คุณสามารถกำหนดจำนวนเงินที่พร้อมจะลงทุนในแต่ละเดือน ความคาดหวังเกี่ยวกับผลตอบแทน และการกระทำของคุณในกรณีที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แผนนี้จะทำงานได้ดี โดยเฉพาะในตลาดหุ้นโลกซึ่งมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว อย่างไรก็ตาม แผนการเทรดนี้ก็ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน ซึ่งหมายความว่าคุณอาจต้องถือสินทรัพย์ไว้เป็นปีหรือแม้กระทั่งหลายทศวรรษก่อนที่จะได้เห็นกำไร
สำหรับเทรดเดอร์แบบสวิงและเดย์เทรด พวกเขามักมีแผนการเทรดที่ยาวและครอบคลุมรายละเอียดต่าง ๆ ในกิจวัตรการเทรด ด้วยแผนการเทรด เทรดเดอร์จะสามารถกำหนดได้ง่าย ๆ ว่าคำสั่งซื้อขายนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ดำเนินการตามขั้นตอน และควบคุมผลลัพธ์ได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าคำสั่งซื้อขายจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงข้าม แต่ด้วยแผนการเทรด คุณก็สามารถลดความเสี่ยงลงได้อย่างมาก
ตัวอย่างของแผนการเทรด
รูปด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างของแผนการเทรดตามแนวโน้ม โปรดสังเกตว่าแผนนี้ไม่มีส่วนสำคัญหลายส่วน เช่น เวลา การจัดการความเสี่ยง จุดออก กรอบเวลา และประเภทของสินทรัพย์ แต่ถึงกระนั้น ตัวอย่างนี้ก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

แผนการเทรดของคุณควรถูกจัดระเบียบเหมือนร้านค้าแบบครบวงจร ที่มีทุกสิ่งที่คุณต้องการอยู่ในที่เดียว เราขอแนะนำให้รวมรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ในแผนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะผลลัพธ์ของคุณจะขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ หากคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคง แผนการเทรดของคุณก็ควรมีคำแนะนำให้คุณปฏิบัติตามได้เสมอ
ต่อไปนี้คือรายการต่าง ๆ ที่แผนการเทรดที่เตรียมมาอย่างดีและครอบคลุมควรมี:
กิจวัตรก่อนเปิดตลาด ก่อนเริ่มเทรด คุณทำอะไรบ้าง? อาจจะลองอ่านข่าวล่าสุดทั้งหมดและตัดสินใจว่าจะเลือกเทรดสินทรัพย์ใดบ้างในวันนี้? หรือคุณจะดูสินทรัพย์ทุกตัวที่เทรดแล้วขีดเส้นแนวรับ-แนวต้าน? ไม่ว่ากรณีใด กิจวัตรก่อนเปิดตลาดก็จะช่วยให้คุณมีสมาธิกับการเทรดและตัดสิ่งรบกวนทั้งหมดออกไป พัฒนากิจวัตรที่คุณทำตามเป็นประจำ เพื่อสร้างวินัยและความสม่ำเสมอ และกำหนดไว้ในแผนการเทรดของคุณ จากนั้นก็ปฏิบัติตามกิจวัตรนี้ทุกวัน
กรอบเวลา การเทรดในกรอบเวลาที่ใหญ่กว่านั้นแตกต่างจากการเทรดแบบ scalping ระยะสั้นหรือการเทรดรายวัน บางกลยุทธ์การเทรด เช่น "gap-and-go" มักจะได้ผลดีกว่าในกรอบเวลาเล็ก ๆ เช่น M5-M15 ในขณะที่กลยุทธ์อื่น ๆ เช่น การเทรดตามแนวโน้ม มักจะได้ผลดีกว่าในกรอบเวลา H4-MN (หนึ่งเดือน) นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสูญเสียเงินหากพยายามจับแนวโน้มในกรอบเวลา M5 แต่มันยากกว่ามาก โดยเฉพาะในตลาดฟอเร็กซ์ที่มักเห็นการเคลื่อนไหวเป็นแบบออกข้างบ่อยที่สุด โปรดสังเกตว่าเทรดเดอร์บางคนจะใช้ทุกกรอบเวลาและไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการเทรดในกรอบเวลา M5 และ H4 ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้น คุณสามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปยังขั้นตอนต่อไปได้เลย
การบริหารความเสี่ยง นี่เป็นส่วนที่สำคัญ การจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันไม่ให้คุณสูญเสียเงินทั้งหมดในวันแย่ ๆ และยกระดับกลยุทธ์การเทรดของคุณไปอีกขั้น
เพื่อปรับปรุงการจัดการความเสี่ยง คุณต้องกำหนดการขาดทุนสะสมรายวัน ซึ่งคือจำนวนเงินที่คุณยอมสูญเสียได้ในหนึ่งวันที่คุณจะหยุดเทรดและเริ่มวิเคราะห์ข้อผิดพลาด โดยทั่วไปแล้ว เทรดเดอร์มักตั้งการขาดทุนสะสมรายวันไว้ที่ 5-10% ของเงินทุน หลังจากสูญเสียถึงขีดจำกัดนี้แล้ว พวกเขาจะหยุดเปิดคำสั่งซื้อขายในวันนั้น
นอกจากนี้ เทรดเดอร์ควรกำหนดด้วยว่าจะยอมเสียเงินได้มากแค่ไหนในหนึ่งคำสั่งซื้อขาย สำหรับผมแล้วคือ 3% ของเงินทุนต่อหนึ่งคำสั่งซื้อขาย แต่เทรดเดอร์ที่ระมัดระวังมากอาจยึดหลัก 1% ต่อคำสั่งซื้อขาย ซึ่งหมายความว่าคุณต้องเทรดเสียต่อเนื่อง 100 ครั้งถึงจะเสียเงินทั้งหมด ซึ่งคุณคงไม่มีทางเสียติดกัน 100 ครั้งหรอกหากกลยุทธ์การเทรดของคุณนั้นทำกำไรได้
สุดท้าย คุณควรมีอัตราส่วนความเสี่ยงต่อผลตอบแทนที่เหมาะสม อัตราส่วนความเสี่ยงต่อผลตอบแทนคือการวัดความสัมพันธ์ระหว่างกำไรที่คาดหวังกับความเสี่ยงในแต่ละคำสั่งซือขาย ผมแนะนำให้ใช้อัตราส่วนอย่างน้อย 1:1.5 ด้วยวิธีนี้ ถ้าคุณเสี่ยงด้วยเงินในจำนวน X กำไรของคุณในแต่ละคำสั่งซื้อขายก็ควรได้ 1.5X อย่างไรก็ตาม เทรดเดอร์ที่ไม่ได้ตั้ง Stop-Loss และ Take-Profit ล่วงหน้าอาจข้ามส่วนนี้ไปได้เลย หากกลยุทธ์การเทรดของพวกเขาอนุญาตให้ไม่ต้องสนใจเรื่องนี้
กำหนดว่าคุณจะเทรดตามแนวโน้มหรือเทรดในกรอบ ทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างมาก เทรดเดอร์ที่เทรดตามแนวโน้มอาจถือสถานะเปิดไว้นานกว่าเพราะแนวโน้มมักจะมีความต่อเนื่อง ดังนั้นเทรดเดอร์เหล่านี้อาจได้กำไรมากกว่าด้วยความเสี่ยงที่น้อยกว่า ในทางกลับกัน เทรดเดอร์ที่เทรดในกรอบจะได้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวแบบออกข้างและช่วงที่มีการสะสมราคา
ประเภทตลาด ตลาดหุ้นเปิดทำการเฉพาะช่วงเวลาที่กำหนด และคุณต้องอยู่หน้าแพลตฟอร์มการซื้อขายให้ตรงเวลาในทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนตลาดสกุลเงินดิจิทัลนั้นเทรดได้ตลอด 24/7 แต่คุณไม่ควรปล่อยคำสั่งซื้อขายเอาไว้โดยไม่ตั้ง Stop-loss เนื่องจากมันมีความผันผวนสูง ส่วนตลาดฟอเร็กซ์จะเปิดทำการตลอด 24/5 (ปิดวันหยุดสุดสัปดาห์) แถมยังมีความผันผวนต่ำกว่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดเหล่านี้ด้วย ควรเลือกเทรดในสิ่งที่คุณชอบที่สุดจะดีกว่า เพราะการเทรดสินทรัพย์ที่คุณสนใจจะทำให้เทรดได้ง่ายขึ้นมาก
คุณต้องมองหารูปแบบการเคลื่อนไหวเดิม ๆ ในตลาดและเข้าทำการซื้อขายเฉพาะเมื่อมันตรงตามแผนการเทรดของคุณเท่านั้น โดยมีหลายวิธีในการเลือกจุดเข้าเทรด:
การพักตัว (Pullback) เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการซื้อในกรณีที่ตลาดเป็นขาขึ้น
การทะลุจริงเหมาะกับผู้ที่ต้องการการยืนยันการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนกว่า แต่ต้องระวังการทะลุหลอกด้วย
หากคุณใช้สัญญาณจากตัวบ่งชี้ทางเทคนิค เช่น MACD คุณสามารถเข้าเทรดเมื่อเส้นของตัวบ่งชี้ตัดกัน
คุณสามารถสร้างสัญญาณเข้าของคุณเองได้ ตัวอย่างเช่น การเกิด divergence บน RSI, การทดสอบระดับ Fibonacci retracement หรือรูปแบบแท่งเทียน แต่การมีหลายปัจจัยประกอบกันย่อมดีกว่า ไม่ควรพึ่งพารูปแบบเดียวหรือตัวบ่งชี้เดียว
Stop-loss เทรดเดอร์ทุกคนต้องมีแผนสำรองหากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาด คุณสามารถตั้ง Stop Loss ก่อนเข้าเทรดและไม่ต้องคอยดูกราฟระหว่างที่คำสั่งซื้อขายยังเปิดอยู่ หรือจะคอยเฝ้าดูคำสั่งซื้อขายของคุณแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะปิดดีไหม แต่วิธีหลังนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าเนื่องจากมันอาจทำให้คุณตัดสินใจแบบใช้อารมณ์และขาดทุนในคำสั่งซื้อขายที่อาจทำกำไรได้
Take-profit หากคุณกำหนดอัตราส่วนความเสี่ยงต่อผลตอบแทนเอาไว้ ระดับ take-profit ก็ควรอยู่ไกลกว่า stop-loss หรือคุณอาจปิดส่วนหนึ่งของสถานะเมื่อถึงเป้าหมายแรก แล้วค่อยปรับ stop-loss ไปที่จุดคุ้มทุน วิธีนี้จะทำให้คำสั่งซื้อขายของคุณปราศจากความเสี่ยง และคุณสามารถถือสถานะได้นานขึ้นเพื่อเพิ่มผลกำไรให้มากขึ้น
รูปด้านล่างนี้จะช่วยคุณในการสร้างแผนการเทรดของคุณ

แผนการเทรดเชิงกลยุทธ์หรือเชิงรุก
นักลงทุนหลายคนใช้การลงทุนแบบอัตโนมัติ (automated investing) เพื่อลงเงินจำนวนหนึ่งทุกเดือนในกองทุนรวมหรือสินทรัพย์อื่น ๆ แผนการเทรดแบบนี้เรียกว่า "อัตโนมัติ" แม้ว่ากระบวนการจะทำงานเอง แต่ก็ยังต้องเขียนออกมาเป็นแผนให้ชัดเจน
หากแผนการเทรดกำหนดเงื่อนไขที่คุณจะมองหาจุดเข้า แผนดังกล่าวจะเรียกว่าแผนการเทรดเชิงกลยุทธ์หรือเชิงรุก ซึ่งต่างจากการลงทุนแบบอัตโนมัติ ที่นักลงทุนจะซื้อหลักทรัพย์ในระยะเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน ส่วนเทรดเดอร์ที่เทรดเชิงกลยุทธ์มักจะมองหาจุดเข้าและออกที่ระดับราคาเฉพาะหรือเมื่อเงื่อนไขบางอย่างเป็นจริง ดังนั้น แผนการเทรดเชิงรุกจึงมีความละเอียดมากกว่า
เทรดเดอร์ที่เทรดเชิงกลยุทธ์จะต้องมีชุดตัวกระตุ้นเพื่อเปิดคำสั่งซื้อขาย บางส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมดเป็นสัญญาณจากตัวบ่งชี้ทางเทคนิค ความเอนเอียงทางสถิติ หรือข้อมูลเศรษฐกิจที่เผยแพร่ และในบท "ตัวอย่างแผนการเทรด" ก็จะเน้นไปที่แผนเชิงกลยุทธ์ซึ่งเหมาะกับเทรดเดอร์มากกว่า
การปรับเปลี่ยนแผนการเทรด
แผนการเทรดที่ดีนั้นจะใช้ได้นานโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ โดยปกติแล้วมันควรครอบคลุมทุกสถานการณ์ที่คุณอาจเผชิญขณะที่ทำงานกับตลาด ดังนั้น คุณจึงไม่ควรเปลี่ยนแผนการเทรดเพียงเพราะเจอช่วงขาดทุนหรือวันเทรดที่แย่ เนื่องจากแผนการเทรดที่ดีจะมีข้อมูลไว้แล้วว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะเทรดเดอร์ เราต้องพัฒนาตัวเองและมุ่งมั่นเสริมสร้างทักษะและความรู้อยู่เสมอ หากคุณเติบโตเกินกว่าแผนการเทรดเดิมแล้ว การปรับปรุงแผนเดิมหรือสร้างแผนใหม่ที่สะท้อนมุมมองต่อตลาดในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่สมควรทำ เพียงแต่ต้องระวังว่า คุณควรหยุดเทรดชั่วคราวจนกว่าแผนใหม่จะพร้อมใช้งาน
ข้อจำกัดในการเทรด
กฎหลักของแผนการเทรดคือต้องปฏิบัติตามแผนที่ตั้งไว้ คุณต้องระบุทุกขั้นตอนอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการทำกำไร ยิ่งไปกว่านั้น หากแผนการเทรดของคุณอิงตามตัวบ่งชี้ทางเทคนิค คุณสามารถพัฒนามันให้กลายเป็นกลยุทธ์การเทรดแบบอัลกอริทึมได้ด้วย